ATX MAINBOARD
ความเป็นมาของ ATX
- เนื่องจากปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นจากการใช้เมนบอร์ดแบบเก่า (AT Baby Form Mainboard) Intel ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาเมนบอร์ดแบบใหม่ขึ้น เรียกว่า ATX Form Factor ในเอกสารประกอบคุณลักษณะของเมนบอร์ดที่มีการผลิตตาม ATX Form นั้นระบุเกี่ยวกับรูปแบบของเมนบอร์ด การวางตำแหน่งอุปกรณ์ การวางตำแหน่งของหัวต่อ (Connector ) ต่างๆ ไว้อย่างละเอียด นอกจากนี้ส่วนที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกคือ ภาคจ่ายไฟของเมนบอร์ด ซึ่งออกแบบให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและสามารถควบคุมโดยซอฟต์แวร์ได้
- เนื่องจากตลาดอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มีความต้องการผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งต้องการซีพียู (Central Processing Unit or Microprecessor) ความเร็วสูง ตัวซีพียูมักร้อนมาก ทำให้ต้องออกแบบระบบระบายความร้อนที่สามารถ ระบายความร้อนได้ดี
รายละเอียดเมนบอร์ดแบบ ATX Form Factor
- การเปลี่ยนตำแหน่งซีพียู ทำให้สามารถนำ การ์ดขนาดยาวมาเสียบลงบนสล๊อต (slot) ได้โดยไม่ต้อง กังวลว่าจะถูกตำแหน่งซีพียูกีดขวาง การออกแบบโดยย้ายหัวต่อ (Connector) มาไว้บนเมนบอร์ด (Built in - On Board) ทำให้ลดความยุ่งยากในการประกอบ ลดจำนวนสายแพ เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งข้อมูล
- หน้าตาของเมนบอร์ดแบบ ATX ที่ออกแบบใหม่ โดยเสมือนว่าสลับตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ เป็นหมุนมุม 90 องศา และจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ใหม่ โดยจัดวาง Socket สำหรับซีพียูไว้ไกล้กับSocket แผงหน่วยความจำหลัก (RAM) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งข้อมูลระหว่าง CPU-RAM
- ตำแหน่งที่ตั้งของซีพียูจะได้รับประโยชน์จากพัดลมของภาคจ่ายไฟ (Power Supply) ช่วยในการระบายความร้อนที่เกิดขึ้นบนซีพียู
การระบายอากาศและการวางตัวของ ATX Mainboard
การวางตัวซีพียูและการวางตัวของพัดลม เอื้ออำนวยต่อการไหลเวียนของอากาศภายในเคสมากขึ้น ในขณะที่ตำแหน่ง Connector ของ Floppy Disk และ Harddisk ถูกย้ายมาใกล้กับตำแหน่งติดตั้งจริงๆ มากขึ้น เพื่อลดระยะของสายแพ
สรุปประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากเมนบอร์ดที่ออกแบบตามมาตรฐาน ATX
1. ลดการใช้สายแพสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ โดยย้ายอุปกรณ์หรือพอร์ตที่เคยต้องใช้สายแพ เช่น พอร์ตอนุกรม พอร์ตขนาน พอร์ต PS/2 ไปไว้บนเมนบอร์ด ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งถ่ายข้อมูลด้วย เพราะหลักการของการส่งข้อมูลนั้นมีอยู่ว่ายิ่งระยะทางการส่งข้อมูลสั้นเท่าไรก็ยิ่งส่งได้เร็วเท่านั้น
2. การย้ายอุปกรณ์ในข้อ 1 มาไว้บนเมนบอร์ด มีส่วนช่วยลดการแผ่คลื่นไฟฟ้าและคลื่นวิทยุของอุปกรณ์ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ดีขึ้น ช่วยลดสัญญาณรบกวน ทำให้ลดเสียงที่รบกวนการทำงานลงไป
3. เมื่อพิจารณาถึงอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะใช้ระบบมัลติมีเดียมากขึ้นซึ่ง ATX จะช่วยเพิ่มผลิตภาพของระบบมัลติมีเดีย โดยเผื่อความกว้าง (bandwidth) ของช่องสัญญาณให้มากขึ้น เพราะแบบของ ATX นั้นเป็นรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นต่อการเพิ่มหรือเผื่อช่องความกว้างของการส่งสัญญาณ
4. เมนบอร์ดแบบ ATX จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเพิ่มอุปกรณ์สำหรับระบายความร้อนและอุปกรณ์เพื่อลดปริมาณเสียงรบกวนในคอมพิวเตอร์
สรุปประโยชน์ที่ได้จากเมนบอร์ดแบบ ATX
- เพิ่มความยืดหยุ่นในการต่ออุปกรณ์ I/O (Input / Output) ต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายในด้านการผลิต
- ลดการใช้สายแพ
- เพิ่มระดับความแม่นยำในการทำงาน ของอุปกรณ์ต่างๆ
- สนับสนุนการต่อ I/O ต่างๆที่จะมี ในอนาคตเช่น USB , IrDA
- ประโยชน์จากการเปลี่ยนตำแหน่ง ที่ตั้งของหัวต่ออุปกรณ์ (Connector) ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสายแพ
- เพิ่มความเร็วในการส่งถ่ายข้อมูล โดยสนับสนุน PIO Mode 4 5 ทำให้การถ่ายเทข้อมูลเร็วขึ้น
การระบายความร้อนภายในเคส
- คอมพิวเตอร์ โดยใช้พัดลมจาก แหล่งจ่ายไฟ (Power Supply) รองรับการทำงานของไมโคร โปรเซสเซอร์ความร็วสูงที่จะมีในอนาคต
- เปลี่ยนตำแหน่งการติดตั้งไมโคร- โปรเซสเซอร์และหน่วยความจำหลัก มีพื้นที่ว่างเพิ่มสำหรับช่องเสียบการ์ด (Slot)
- อัปเกรดไมโครโปรเซสเซอร์ได้ง่าย
- ติดตั้งแผงวงจรต่างๆ เพิ่มได้ง่าย
- อัปเกรดหน่วยความจำหลักได้ง่าย
ATX กับแผนการประหยัดพลังงาน
สำหรับเมนบอร์ดที่ใช้Chipset รุ่นใหม่ (430TX, 440FX) และใช้รูปแบบของเมนบอร์ด ATX มีดังต่อไปนี้
1. หยุดหรือลดรอบการทำงานของพัดลมระบายอากาศ ให้ขึ้นอยู่กับปริมาณความร้อนที่ต้องการระบาย
2. หยุดการทำงานของซีพียู โดยใช้จังหวะการ Stop Clock หรือหยุดสัญญาณนาฬิกาของซีพียูขณะที่ไม่มีการใช้งาน
นอกจากนี้มาตรฐานเสริมของ ATX ยังกำหนดการควบคุมการใช้พลังงานที่เรียกว่า ACPI (Advanced Configuration Power Interface) ซึ่งกำหนดให้ระบบปฎิบัติการ (Operating System) สามารถส่งคำสั่งควบคุมโดยตรงไปยัง Power Supply และการควบคุมพลังงานของอุปกรณ์ต่อพ่วง (ทำงานร่วมกับ PnP) และพัดลมระบายความร้อน
ทดสอบใช้งานเมนบอร์ดที่สร้างตามมาตรฐาน ATX
หากซื้อเมนบอร์ดที่ออกแบบตามมาตรฐาน ATX สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างหนึ่งคือต้องซื้อเคสที่ออกแบบมาสำหรับเมนบอร์ดแบบ ATX ด้วย ไม่สามารถนำไปประกอบลงในเคสสำหรับ AT ได้ เนื่องจากตำแหน่งการวางตัวของอุปกรณ์และภาคจ่ายไฟคนละประเภทกัน
จากการทดสอบประกอบคอมพิวเตอร์ โดยใช้เมนบอร์ดแบบ ATX (Intel PD440FX) รู้สึกว่าทำให้การประกอบง่ายขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเคสที่ซื้อมาใช้งานด้วยผู้ผลิตเคสบางรายมีการออกแบบที่ดีทำให้การประกอบง่าย ดังนั้นหากใครที่ต้องการประกอบคอมพิวเตอร์ใช้เอง คำแนะนำก็คือเลือกซื้อเคสที่ได้รับการออกแบบดีและใช้โลหะหอวัสดุที่ดีถึงแม้ว่าจะต้องจ่ายมากกว่าเดิมสัก 500 - 1000 บาท ก็คุ้มค่าต่อการจ่ายเงิน
สำหรับการประกอบเมนบอร์ดแบบ ATX ลงบนเคส สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเพิ่มความสะดวกขึ้นคือไม่ต้องต่อสายแพให้ระโยงระยางระหว่างพอร์ตขนาน พอร์ตอนุกรม และพอร์ต PS/2 ช่วยลดความยุ่งยากแก่นักประกอบมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญเกี่ยวกับพอร์ตต่างๆ และสายแพลงไปได้มาก นอกจากนี้ตำแหน่งการจัดวางตัวของ Socket สำหรับซีพียู และหน่วยความจำหลัก ทำให้ง่ายต่อการประกอบและอัปเกรดมากขึ้น
ส่วนที่น่าสนใจก็คือ ส่วนของภาค<จ่ายไฟของ ATX นั้นแตกต่างจากภาคจ่ายไฟของ AT โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ภาคจ่ายไฟของ ATX ในส่วนการจ่ายไฟ (Regulator)สามารถควบคุมการจ่ายไฟที่แรงดันแตกต่างกัน เนื่องจากตามมาตรฐานของ ATX ระบุไว้เช่นนั้น พัดลมของหม้อแปลงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการระบายความร้อนภายในคอมพิวเตอร์ก่อนระบายออกทางช่องระบายออกด้านหลังของเคส
อนาคต ATX
ถ้าลองนึกกลับไปว่า ผู้ที่เป็นหัวหอกในการนำเอา PCI Bus มาใช้ คำตอบคือ Intel เช่นเดียวกัน หากถามว่า ATX Form (เมนบอร์ด,ภาคจ่ายไฟ ,เคส) ก็ถูกวางรูปแบบและพัฒนาโดย Intel ปัจจุบันเมนบอร์ดที่ผลิตออกมาจำนวนไม่น้อยสร้างออกมาแบบ ATX Form ดังนั้นจึงคาดว่าในอนาคต ATX มาแทนที่ AT แน่นอน
ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนรูปแบบของ เมนบอร์ด AT ,ATX ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่กำลังพิจารณาการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ผู้ผลิตเมนบอร์ดหลายรายสร้างเมนบอร์ด ATX ออกมา และอีกหลายราย สร้างแบบลูกผสมคือจะใช้กับระบบเก่าคือ AT ก็ได้ หรือจะเปลี่ยนไปใช้กับระบบใหม่ ATX เลยก็ได้