RAM

(หน่วยความจำหลัก)

แผงวงจรอิเล็คทรอนิคส์เล็กๆ ราคา(เคย)แพง และมีความสำคัญต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์สูง ถ้าต้องการอัปเกรดคอมพิวเตอร์ สิ่งแรกที่ควรพิจารณาก็คือ มี RAM พอแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่พอล่ะก็ อย่าไปมองซีพียู, การ์ดแสดงผลหรือองค์ประกอบอื่นๆ

การซื้อ RAM ประเภทต่างๆ

1. ใส่ SIMM ต้องใส่เป็นคู่แต่ DIMM ใส่อันเดียวได้

เมื่ออินเทลออกแบบซีพียูตระกูลเพนเทียมซึ่งมี Data BUS ความกว้าง 64 บิต ทำให้ต้องจัดส่งข้อมูลให้ซีพียูได้ 64 บิตด้วย ซึ่งอินเทลเองก็ออกแบบชิปเซ็ต (Chipset) มาโดยมีข้อจำกัดว่า ต้องใส่ RAM 2 แผง เพราะ RAM แบบ SIMM นั้น มีข้อจำกัดในการอ่าน (Fetch) ข้อมูล จะอ่านได้ครั้งละ Row เดียว ซึ่งเท่ากับ 32 บิต เมื่อต้องการ 64 บิต ก็เลยทำให้ต้องใส่ลงไป 2 แผง ตั้งแต่ Intel 430FX เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน ถ้าหากซื้อเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซ็ตของอินเทลล่ะก็ เวลาจะใส่ RAM ต้องใส่เป็นคู่ ซึ่งผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ หรือเมนบอร์ดบางรุ่นจะกำหนดสล๊อต ของ RAM เป็น BANK เช่น BANK 0 BANK 1 แต่ละ BANK มี 2 สล๊อต และเวลาใส่ RAM ต้องใส่ให้เต็ม BANK คราวนี้มาถึง DIMM หรือ SDRAM หรือเรียกกันว่า Dual Inline Module 168 ขา ที่ใส่ได้แผงเดียวก็เพราะเวลาที่ข้อมูลถูก Fetchนั้น จะเป็นข้อมูล 64 บิต เลย เพราะการ Fetch ข้อมูลจะอ่านครั้งละ 2 แถวเลย ซึ่งเป็นไปตามสถาปัตยกรรมของ DIMM เอง

2. FPM + EDO ใส่รวมกัน

FPM (Fast Page Mode) ก็คือ RAM ที่ใช้สถาปัตยกรรมการเข้าถึงและการอ่านข้อมูลแบบ Fast Page Mode เมื่อมี RAM ชนิดใหม่ออกมาคือ EDO (Extended Data Output) ปัจจุบัน FPM นั้นไม่แพร่หลายเหมือน EDO แล้ว แต่ก็ยังคงพอหาซื้อได้อยู่ ปัจจุบันมีผู้ผลิตเมนบอร์ด ผลิตเมนบอร์ดที่ใช้ RAM ได้ทั้งสองประเภทออกมาสู่ตลาด แต่หากใช้ RAM ทั้งสองประเภทร่วมกัน คือ SIMM FPM + SIMM EDO เมื่อบูตเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะกับวินโดวส์ 95 จะได้ผลที่คุณต้องตะลึง! อย่างเช่น จากที่ใส่ RAM ธรรมดา ใช้งานไดรฟ์ซีดีรอมได้ พอใส่ผสมกัน เครื่องรายงานจำนวน RAM ได้ครบตามจำนวนที่ใส่ลงไป แต่เมื่อรันวินโดวส์ 95 แล้วคอมพิวเตอร์ตรวจหาไดรฟ์ซีดีรอมไม่พบ ในรายที่อาการหนักกว่านั้น คือ คอมพิวเตอร์แฮงค์ไม่เป็นเวลา นึกจะแฮงค์ก็แฮงค์ เป็นปัญหาที่วิเคราะห์ยากมาก และก่อให้เกิดการหลงทาง ประเภทที่ช่างเองก็ยังตกม้าตายกันไปมาก เพราะสาเหตุที่จะทำให้โปรแกรมแฮงค์นั้น มีมากมายหลายประการ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องที่ใช้ FPM กับ EDO ผสมกัน จะเกิดปัญหาในการใช้งานทุกเครื่อง อาจจะมีบางเครื่องที่สามารถใช้งานได้

3. SIMM EDO + DIMM SDRAM ใส่รวมกัน

เมนบอร์ดบางรุ่น เช่น เมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซ็ต Intel 430VX, 430HX, 430TX หรือ VIA VPX97 ซึ่งเป็นในยุคที่ SDRAM ยังเป็นของใหม่ (และมีราคาแพง) ดังนั้น เพื่อเป็นการเอื้ออำนวยต่อระบบที่ว่ากันว่า "สามารถขยายหรืออัปเกรดได้" ผู้ผลิตเมนบอร์ดหลายๆ ราย ก็ผลิตรุ่นที่ใช้ได้ทั้ง SIMM EDO และ SDRAM (DIMM) บนบอร์ดเดียวกันออกมา แรกทีเดียว ผู้ใช้งานอาจเลือกใช้ SIMM EDO RAM ก่อน ซึ่งอาจจะใส่ขนาด 16 เมกะไบต์หรือ 32 เมกะไบต์ก็ตามแต่ แต่ในระยะหลัง เมื่อเห็นว่า SDRAM ราคาถูกลงก็อาจจะอัปเกรดโดยเพิ่ม SDRAM เข้าไปบ้าง ซึ่งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติก็ตาม สามารถทำได้ และคอมพิวเตอร์ก็ยังทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ข้อเสียก็คือ แทนที่อัตราการเข้าถึงข้อมูล (Access Time) ของ SDRAM จะมีค่า 10 นาโนวินาที ก็จะกลายเป็นมีค่า Access Time 60 ns ตาม SIMM EDO ซึ่งทำให้ระบบทำงานช้าลง และจะกลายเป็นว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรจากข้อดีของ SDRAM เลย นอกจากนี้สำหรับเมนบอร์ดรุ่นแรกๆ ที่มีซ๊อคเก็ตสำหรับ SIMM และ DIMM มาพร้อมกัน แต่ผู้ใช้งานอัปเกรดด้วย SDRAM ทีหลัง อาจพบว่าเมื่อใช้ไป 1 - 2 เดือน คอมพิวเตอร์จะใช้งานหน่วยความจำส่วนที่เป็น DIMM ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ SDRAM รุ่นใหม่ๆ ออกแบบมาเพื่อใช้กับกระแสไฟฟ้า 3.3 โวลต์ แต่เมนบอร์ดรุ่นเก่าจ่ายไฟ 5 โวลต์ เพราะ SDRAM รุ่นเก่าก็ต้องการไฟ 5 โวลต์ แต่เมื่อไฟ 5 โวลต์ดังกล่าวถูกจ่ายเข้าใน SDRAM รุ่นใหม่ที่ต้องการเพียง 3.3 โวลต์ ในระยะนานๆ เข้าก็ทำให้ SDRAM นั้นเสียสภาพไปได้ แต่เมนบอร์ดปัจจุบันนั้น ได้ถูกออกแบบภาคจ่ายไฟให้มีความสามารถในการจ่ายไฟในอัตราที่คงที่และเหมาะสมกับ RAM มากขึ้น สรุป ถ้าเกิดมีทางเลี่ยง ก็อย่าใช้ SIMM EDO ร่วมกับ DIMM เลยครับ ทำเป็นรักพี่เสียดายน้องไม่ได้ หรือต้องเลือกซะว่าใครจะอยู่ใครจะไป

4. คุณภาพของ RAM

ครั้งหนึ่งที่พันธ์ทิพย์ RAM ยี่ห้อหนึ่ง ดูลักษณะภายนอก เหมือนกันไม่มีผิด แต่ราคาแตกต่างกัน ร้านหนึ่งขาย 600 บาท อีกร้านหนึ่งขาย 800 บาท ถ้าผมเป็นคนซื้อผมต้องเอา 600 แน่ๆ แต่มีร้านที่ 3 มีทั้งสองอย่าง คุณจะเอา 600 หรือ 800 ก็ได้ (แล้วแต่ชอบ) ถ้าคุณไปซื้อ ฟังคำเตือนของผมให้ดี เดินดูทั่วๆก่อนซื้อ คราวนี้กลับมาที่เรื่องนี้ต่อ RAM หน้าตาเหมือนกันทำไมราคาต่างกัน ในทางเทคนิคหรือแง่มุมของการผลิตแล้ว โรงงานผลิตจะมีการคัดเกรดของชิปที่ใช้ในการผลิต RAM ถ้าหากเกรดต่ำลงมาหน่อย ก็คัดแยกมาขายในรุ่นที่ราคาต่ำลงมา พวกที่เกรดต่ำนั้น นำมาใช้งาน ปกติก็ใช้งานได้ครับ แต่ถ้าลองไปกำหนดอัตราการอ่าน-เขียน ใน BIOS ดูดีเถอะๆ ครับ เช่น 3-2-2-2 หมายถึงการเข้าถึง RAS ครั้งแรก 3 คล๊อก (สัญญาณนาฬิกา) ต่อไป 2 คล๊อก เราเรียกว่า โหมดปกติครับ โดยส่วนใหญ่ RAM เหล่านั้นจะรันได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น 3-1-1-1 คือ ให้ RAM ทำงานเร็วขึ้น โดยทั่วไปหากเป็น RAM เกรดต่ำ จะพบว่าวินโดวส์ 95 แฮงค์เมื่อกำหนดให้ RAM ทำงานเร็วขึ้น

พูดถึงคุณภาพของ RAM คงต้องรวมถึงการตรวจสอบว่า RAM นั้นทำงานได้หรือไม่ หรือ RAM นั้นเสียหรือไม่.. โดยปกติ ถ้าหากไปซื้อ RAM ที่ร้าน บางร้านเขาก็ลองให้ บางร้านก็ไม่ลอง โดยส่วนใหญ่เขาจะไม่ลองให้ เอาละครับ ถ้ามีโอกาสจะลองอะไรดี ลองด้วยวิธีการต่อไปนี้ครับ ทำเป็นขั้นๆ ไปน่ะครับ

1. เมื่อใส่ RAM ลงในเมนบอร์ดแล้ว ตัวเลขแสดงการนับจำนวน RAM ครบตามจำนวนที่ใส่ลงไป แสดงว่าตัว RAM น่าจะใช้งาน ถ้าหากเปิดแล้วนับไม่ครบ อย่าลืมลองตรวจสอบการติดตั้ง ลองขยับ ตรวจสอบดูว่าใส่ได้ถูกต้องหรือยัง หรือถ้านับได้ครึ่งเดียว กรณีของ SIMM ก็ลองเอา RAM อีกตัวมาใส่เทียบดู

2. หลังจากนั้นให้บูตคอมพิวเตอร์ ถ้าหากใช้ดอสระบบเก่า ให้ตรวจสอบว่าบรรทัด DEVICE=C:\…\HIMEM.SYS มีใน CONFIG.SYS เมื่อบูตถึงบรรทัดนี้ จะมีการตรวจสอบ HIMEM ถ้าผ่าน แสดงว่า RAM ที่เพิ่มมาใหม่ น่าจะใช้งานได้

3. ให้คอมพิวเตอร์รัน Windows 95 ตรวจสอบว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่ ในขั้นตอนนี้ คงเกินขีดความสามารถของร้านที่จะอนุเคราะห์ให้คุณลองได้ แนะนำให้ซื้อแล้วนำกลับมาลองที่บ้าน และต้องมั่นใจว่าวินโดวส์ 95 นั้นรันอย่างถูกต้อง สมบูรณ์มาก่อนที่จะเพิ่ม RAM นะครับ หากรันวินโดวส์ 95 แล้วไม่มีปัญหา ก็แสดงว่า RAM ที่ใส่ลงไปใหม่ กับ RAM เก่า.. เข้ากันได้ดี

4. ตรวจสอบขั้นสุดท้ายว่า RAM ที่ซื้อมาใหม่นั้น ใช้งานได้ ตรงนี้ให้ลองใช้โปรแกรม MS Word 97 ภาษาไทย (คงมีกันทุกเครื่องนะครับ) รัน MS Word แล้วเปิดเอกสารที่เคยสร้างไว้แล้ว สัก 5 เอกสาร ลองสลับหน้าต่างเอกสาร หรือคลิ๊กสโกรลบาร์ (Scroll Bar) ดูหลายๆรอบ สัก 15 นาที หากไม่แฮงค์ ก็แสดงว่า RAM ที่ซื้อมานั้นดีทุกประการ ใช้งานต่อไปได้ แต่ถ้าหาก MS Word แฮงค์ แสดงข้อความ Error Illegal Operating ก็ให้ทำใจไว้ก่อนว่า RAM ที่ซื้อมาใหม่ ต้องมีชิปใด ชิปหนึ่งเสีย แต่ก่อนจะชี้ชัดลงไป ให้ลองสลับสล๊อตเสียบดูก่อน หรือไม่ก็รันเปรียบเทียบ ระหว่างเครื่องที่ใช้ RAM ชุดเก่า กับเครื่องที่ใช้ RAM ชุดใหม่ เพื่อดูว่าเกิดปัญหาจริงหรือไม่ ถ้าหากเกิดปัญหาจริง ก็ให้นำไปเปลี่ยนเอาของใหม่มาได้เลย

<= Home